แนวทางภายใต้กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมเชิงพาณิชย์พิเศษฉบับปรับปรุงที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2022

กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมเชิงพาณิชย์พิเศษฉบับปรับปรุงจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2022 บทความนี้จะอธิบายรายละเอียดของกฎหมายดังกล่าวและการกำหนดค่าใน Stripe ที่ต้องดำเนินการ คุณสามารถดูรายละเอียดและข้อกำหนดพื้นฐานของกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมเชิงพาณิชย์พิเศษได้ที่นี่

โปรดทราบว่า

คู่มือนี้เขียนขึ้นโดยอิงจากแนวทางและเนื้อหาที่เผยแพร่โดยสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของญี่ปุ่น แม้เราเขียนขึ้นโดยใส่ใจในรายละเอียดให้มากที่สุด แต่ก็ไม่รับประกันความถูกต้องของเนื้อหาแต่อย่างใด โปรดอ่านเนื้อหาและแนวทางที่เกี่ยวข้องประกอบคู่มือนี้

การปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมเชิงพาณิชย์พิเศษและกฎหมายว่าด้วยสัญญาธุรกรรมเงินฝากสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์พิเศษ ปี 2021
แนวทางว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลในระหว่างขั้นตอนการสมัครใช้บริการสั่งซื้อทางไปรษณีย์

ข้อมูลทั่วไป

เนื่องจากปัญหาด้านธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการชำระเงินเพื่อสมัครใช้บริการมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมเชิงพาณิชย์พิเศษฉบับปรับปรุงจึงกำหนดให้ธุรกิจต้องเปิดเผยข้อมูลบางประการที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมเชิงพาณิชย์ เมื่อมีการสั่งซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ทั้งยังกำหนดไม่ให้ใช้ถ้อยคำหรือการชี้นำอื่นๆ ที่อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ (มาตรา 12-6 ของกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมเชิงพาณิชย์พิเศษ) นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังอนุญาตให้ผู้บริโภคเพิกถอนการตัดสินใจที่เกิดขึ้นโดยเป็นผลมาจากถ้อยคำและการชี้นำที่ชวนให้เข้าใจผิด ซึ่งละเมิดกฎหมายฉบับนี้อีกด้วย (มาตรา 15-4 ของกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมเชิงพาณิชย์พิเศษ)
เมื่อพิจารณาถึงบทบัญญัติดังกล่าว สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้เผยแพร่แนวทางว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลในระหว่างขั้นตอนการสมัครใช้บริการสั่งซื้อทางไปรษณีย์ ("แนวทาง") เพื่อส่งเสริมให้เกิดการตีความที่ชัดเจนและเพื่อให้ตัวอย่างที่เจาะจง
กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมเชิงพาณิชย์พิเศษฉบับปรับปรุงและแนวทางกำหนดให้ธุรกิจต่างๆ ต้องเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดเกี่ยวกับประเด็นที่อาจก่อให้เกิดความสับสนได้ หากไม่สังเกตอย่างใส่ใจ การทำเช่นนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดกรณีที่ผู้บริโภคถูกเรียกเก็บเงินค่าสินค้าหรือบริการที่ตนคิดว่าธุรกิจมอบให้เพื่อทดลองใช้ หรือกรณีที่ผู้บริโภคไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ เนื่องด้วยข้อกำหนดที่ซับซ้อน ทั้งที่ธุรกิจให้สัญญาไว้ว่าสามารถยกเลิกได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้ ธุรกิจต่างๆ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและแนวทางดังกล่าโดยตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับสัญญาได้ที่หน้าการยืนยันขั้นสุดท้าย เมื่อทำการสั่งซื้อออนไลน์

หน้าการยืนยันขั้นสุดท้าย

โดยหลักแล้ว "หน้าการยืนยันขั้นสุดท้าย" ต้องแสดงข้อมูลต่อไปนี้ทั้งหมด

① จำนวน ② ราคาขาย/เงินที่ต้องชำระ ③ ช่วงเวลาและวิธีในการชำระเงิน ④ เวลาในการจัดส่ง/ส่งมอบ ⑤ รายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอแบบจำกัดเวลา (หากมี) ⑥ ข้อมูลเกี่ยวกับการเพิกถอนและการยกเลิก

แนวทางให้นิยามของหน้าการยืนยันขั้นสุดท้ายในการขายสินค้าและบริการทางออนไลน์ไว้ว่า เป็นหน้าที่ผู้บริโภคจะทำการยืนยันการสมัครใช้งานของตนเอง เพื่อเป็นการทำสัญญากับธุรกิจ โดยการคลิกที่ปุ่มสั่งซื้อหรือปุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ แนวทางยังระบุไว้ว่าหน้าใดๆ ที่มีหัวเรื่องว่า "การยืนยันคำสั่งซื้อ" หรือหัวเรื่องอื่นๆ ที่คล้ายกันจะถือเป็นหน้าการยืนยันขั้นสุดท้าย แต่ก็ระบุไว้ด้วยเช่นกันว่าหน้าใดๆ ที่ทำหน้าที่เป็นหน้าสำหรับการยืนยันขั้นสุดท้ายจะถือว่าเข้าข่ายเช่นกัน ไม่ว่าจะมีหัวเรื่องว่าอย่างไรก็ตาม

ข้อมูลที่ต้องแสดง

① จำนวน

แนวทางระบุไว้ว่าธุรกิจต่างๆ ต้องเปิดเผยรายละเอียด เช่น จำนวน ความถี่ และช่วงเวลาของสัญญาตามประเภทของสินค้า/บริการที่ขาย และต้องแสดงในลักษณะที่ให้ผู้บริโภคสามารถยืนยันรายละเอียดเหล่านั้นได้โดยง่าย
ในกรณีของการสมัครใช้บริการ แนวทางระบุไว้ว่าธุรกิจต่างๆ ต้องเปิดเผยจำนวนของสินค้าที่จะจัดส่งในแต่ละรอบ รวมถึงจำนวนครั้งของการจัดส่งทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถทราบถึงจำนวนสินค้าทั้งหมดที่ตนจะได้รับได้ หากข้อความที่แจ้งว่าเป็นการสมัครใช้บริการมีขนาดเล็กหรือจัดทำขึ้นโดยใช้แบบอักษรที่อ่านยากและอยู่ห่างจากข้อความ เช่น "ฟรีสำหรับคำสั่งซื้อแรก" หรือ "ทดลองใช้ฟรี" ข้อความดังกล่าวก็อาจจะถือว่าละเมิดต่อกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมเชิงพาณิชย์พิเศษฉบับปรับปรุง
หากการสมัครใช้บริการที่ธุรกิจเสนอแก่ผู้บริโภคไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด ธุรกิจควรเปิดเผยข้อมูลที่ว่าและควรเปิดเผยรายละเอียด เช่น จำนวนสินค้าที่จะจัดส่งให้ผู้บริโภคในช่วงเวลาหนึ่งๆ (เช่น ในช่วงปีที่กำหนด) เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเห็นภาพได้ชัดเจน ธุรกิจที่เสนอสัญญาแบบต่ออายุอัตโนมัติก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ ควรระบุข้อความชี้แจง เมื่อขายสินค้าเดียวกันในจำนวนหรือปริมาณที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถจำแนกได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น หากธุรกิจขายสินค้า ก. เป็นแพ็ก โดยบรรจุแพ็กละ 5, 3 และ 2 ชิ้น หรือบรรจุสินค้าในภาชนะที่มีขนาดต่างกัน (เช่น ขนาดใหญ่/800 มล. ขนาดกลาง/500 มล. และขนาดเล็ก/300 มล.) คำอธิบายสินค้าก็ควรระบุชื่อสินค้าและจำนวน ขนาดภาชนะ หรืออื่นๆ

② ราคาขาย/เงินที่ต้องชำระ

เมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าจำนวนมาก ธุรกิจต่างๆ ต้องเปิดเผยราคาสินค้าต่อหน่วยและราคารวม หากมีอัตราค่าบริการจัดส่งเพิ่มเติม ธุรกิจก็ต้องเปิดเผยรายละเอียดดังกล่าวเช่นกัน
ในกรณีของการสมัครใช้บริการ ธุรกิจต่างๆ ต้องระบุค่าธรรมเนียมสำหรับการจัดส่งแต่ละครั้งอย่างชัดเจน รวมถึงยอดเงินทั้งหมดที่ผู้บริโภคต้องชำระด้วย ตัวอย่างเช่น หากการสมัครใช้บริการมีการจัดส่งสินค้าทุกเดือนเป็นระยะเวลา 6 เดือน หน้าการยืนยันขั้นสุดท้ายต้องระบุเงินที่ต้องชำระในแต่ละเดือนซึ่งรวมถึงอัตราค่าจัดส่ง และระบุยอดรวมสำหรับสินค้าที่จัดส่งทั้ง 6 เดือน สำหรับการสมัครใช้บริการที่ธุรกิจเสนอราคาพิเศษสำหรับการจัดส่งครั้งแรก ธุรกิจต้องเปิดเผยราคาสำหรับการจัดส่งดังกล่าวและราคาสำหรับการจัดส่งครั้งถัดๆ ไป
ในกรณีที่การทดลองใช้ฟรีเปลี่ยนเป็นสัญญาการใช้บริการแบบเสียค่าใช้จ่ายโดยอัตโนมัติ ธุรกิจต้องเปิดเผยอย่างชัดเจนล่วงหน้าว่า สัญญาจะเปลี่ยนเมื่อใด และผู้บริโภคต้องชำระเงินเป็นจำนวนเท่าใด ในกรณีที่สัญญาเป็นแบบไม่มีกำหนดสิ้นสุด ขอแนะนำให้แสดงเงินที่ต้องชำระทั้งหมดโดยการยกตัวอย่างช่วงเวลา (เช่น หนึ่งปี) เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

③ ช่วงเวลาและวิธีในการชำระเงิน

ธุรกิจต่างๆ ต้องเปิดเผยวิธีการชำระเงินที่ใช้ได้และช่วงเวลาในการชำระเงินที่เกี่ยวข้อง
หากมีการใช้วิธีการชำระเงินหลายวิธีและธุรกิจไม่สามารถแสดงข้อมูลแบบไดนามิกได้ ธุรกิจต้องเปิดเผยช่วงเวลาในการชำระเงินสำหรับวิธีการชำระเงินแต่ละวิธีที่รองรับ

④ เวลาในการจัดส่ง/ส่งมอบ

ธุรกิจต้องเปิดเผยเวลาในการขนส่งสินค้า จัดส่งสินค้า และเริ่มต้นให้บริการ
ในกรณีของการสมัครใช้บริการ ธุรกิจต้องเปิดเผยช่วงเวลาสำหรับการจัดส่งสินค้าแต่ละรอบ

⑤ ช่วงเวลาของข้อเสนอ

ในกรณีของข้อเสนอแบบจำกัดเวลา ธุรกิจต้องเปิดเผยช่วงเวลาที่ให้ข้อเสนอดังกล่าวในหน้าการยืนยันขั้นสุดท้าย เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ธุรกิจสามารถเปิดเผยรายละเอียดไว้ข้างชื่อสินค้า หรือแทรกลิงก์ที่จะนำไปยังรายละเอียดก็ได้ ทั้งนี้ กฎหมายไม่อนุญาตให้เปิดเผยรายละเอียดโดยแจ้งกรอบเวลาที่คลุมเครือ (เช่น "ข้อเสนอสำหรับตอนนี้เท่านั้น")

ข้อกำหนดนี้ไม่มีผลบังคับใช้กับข้อเสนอที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคเมื่อช่วงเวลาที่กำหนดผ่านพ้นไป เช่น ข้อเสนอซึ่งสินค้ามีจำนวนจำกัด เงื่อนไขการชำระเงินบางประการ โบนัสพิเศษ บริการหลังการขาย และสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม คุณสามารถดูตัวอย่างเพิ่มเติมได้ด้านล่าง

⑥ ข้อมูลเกี่ยวกับการเพิกถอนและยกเลิกคำสั่งซื้อ

ธุรกิจต่างๆ ต้องเปิดเผยวิธีการ เงื่อนไข และผลที่ตามมาของการเพิกถอนหรือยกเลิกสัญญา/คำสั่งซื้อ
ทั้งนี้ ตัวอย่างที่เจาะจงสำหรับข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วยเงื่อนไขค่าธรรมเนียมสำหรับการยกเลิก กระบวนการยกเลิก และเส้นตายสำหรับการยกเลิก นอกจากนี้ ธุรกิจอาจแทรกลิงก์ที่นำไปยังหน้าต่างหรือหน้าเว็บไซต์ต่างหาก ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบยืนยันรายละเอียดเหล่านี้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจต้องระบุรายละเอียดเช่นที่กล่าวไปไว้อย่างชัดเจนในหน้าการยืนยันขั้นสุดท้ายด้วย ในกรณีที่มีกรอบเวลาสำหรับการยกเลิกจำกัด ในกรณีที่วิธีการยกเลิกมีขั้นตอนที่ผู้บริโภคคาดไม่ถึง เช่น ต้องมีการให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มเติม หรือในกรณีที่ธุรกิจไม่ยอมรับคำขอยกเลิกผ่านวิธีการที่ผู้บริโภคสามารถปฏิบัติตามได้โดยง่าย
นอกจากนี้ หากธุรกิจยอมรับคำขอยกเลิกผ่านโทรศัพท์ การไม่ให้ลูกค้าสามารถติดต่อตัวแทนหรือการที่ตัวแทนไม่สามารถตอบรับต่อคำขอได้อาจถือว่าเป็นการบิดเบือนความจริงได้เช่นกัน

กำหนดค่ารายการต่างๆ ให้ปรากฏที่หน้าการยืนยันขั้นสุดท้ายผ่าน Stripe Checkout/Payment Links

ส่วนต่อไปนี้จะอธิบายถึงวิธีการแสดงข้อมูลเปิดเผยหลักทั้ง 6 หมวดหมู่ในหน้าการยืนยันขั้นสุดท้ายของ Stripe Checkout

① จำนวน

หน้า Stripe Checkout จะระบุจำนวนสินค้าและยอดเงินที่เรียกเก็บไว้ โดยผู้ใช้สามารถปรับแต่งจำนวนได้ นอกจากนี้ หน้าดังกล่าวยังระบุถึงช่วงทดลองใช้งานและรายละเอียดของรอบการเรียกเก็บเงินหลังจากนั้นด้วย ในกรณีที่เป็นการเรียกเก็บเงินต่อเนื่องซึ่งมีช่วงทดลองใช้งาน

② ราคาขาย

ใน Checkout คุณสามารถระบุราคา รวมถึงอัตราค่าจัดส่งและภาษีการบริโภคได้ 3 วิธีดังนี้

1. รวมอัตราค่าจัดส่งและภาษีการบริโภคไว้ในราคาสินค้า

วิธีการที่ง่ายที่สุดคือการกำหนดราคาที่รวมอัตราค่าจัดส่งและภาษีการบริโภคไว้แล้ว เมื่อทำการลงทะเบียนสินค้า โปรดระบุไว้ในคำอธิบายสินค้าว่า ราคาดังกล่าวรวมภาษีการบริโภคและอัตราค่าจัดส่งไว้แล้ว โปรดคลิกที่นี่เพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างสินค้า

2. กำหนดอัตราภาษีและอัตราค่าจัดส่งแยกต่างหาก

กำหนดอัตราค่าจัดส่งและอัตราภาษีแยกต่างหาก เมื่อสร้างสินค้า แล้วเชื่อมโยงอัตราทั้งสองเข้ากับยอดเงินแต่ละรายการ เมื่อสร้าง URL ของ Checkout วิธีการนี้จะช่วยให้สามารถแสดงอัตราค่าจัดส่งและภาษีการบริโภคแยกจากราคาสินค้าในหน้าการยืนยันขั้นสุดท้ายใน Checkout ได้

3. ใช้ Stripe Tax

เมื่อใช้ Payment Links หรือเมื่อคุณจำเป็นต้องคำนึงถึงอัตราภาษีที่ลดลงหรือภาษีมูลค่าเพิ่มในต่างประเทศ เราขอแนะนำให้ใช้ Stripe Tax แทนที่ "อัตราภาษี" คุณสามารถกำหนดอัตราภาษีสำหรับสินค้าแต่ละรายการได้โดยใช้ Stripe Tax

③ ช่วงเวลาและวิธีในการชำระเงิน

・วิธีการชำระเงิน

ใน Checkout หรือ Payment Links คุณสามารถเลือกวิธีการชำระเงินได้จากหน้าการยืนยันขั้นสุดท้าย

・ช่วงเวลาในการชำระเงิน

ขณะนี้ เรายังไม่รองรับวิธีการชำระเงินแบบซื้อก่อนจ่ายทีหลังในประเทศญี่ปุ่น สำหรับคำสั่งซื้อรายการเดียว ผู้ซื้อต้องชำระเงินสำหรับธุรกรรมให้เสร็จสิ้นโดยทันที

④ เวลาในการจัดส่ง/ส่งมอบ

หากธุรกิจจำเป็นต้องจัดส่งสินค้า คุณสามารถกำหนดค่าให้ [อัตราค่าจัดส่ง] แสดงวันที่ที่คาดว่าจะจัดส่งสินค้าในหน้าการยืนยันขั้นสุดท้ายได้

⑤ ช่วงเวลาของข้อเสนอ

ขณะนี้ Checkout ยังไม่มีฟังก์ชันสำหรับแสดงวันที่หมดอายุของข้อเสนอหรือช่วงเวลาลดราคา วิธีหนึ่งในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวคือการแทรกข้อมูลไว้โดยตรงในชื่อของสินค้า เมื่อสร้างข้อเสนอแบบจำกัดเวลา โปรดระบุวันที่และเวลาสิ้นสุดที่กำหนดไว้ในชื่อสินค้าหรือในคำอธิบายสินค้า

⑥ ข้อมูลเกี่ยวกับการเพิกถอนและยกเลิกคำสั่งซื้อ

・การกำหนดค่าสำหรับนโยบายการคืนสินค้า

คุณสามารถกำหนดค่าให้กับการคืนสินค้าและการคืนเงินได้ในแดชบอร์ดของ Stripe โดยไปที่ [การตั้งค่า] > [Checkout และ Payment Links] ทั้งนี้ คุณสามารถแทรกนโยบายเกี่ยวกับการคืนเงิน การเปลี่ยนสินค้า และการคืนสินค้าได้โดยการเปิดใช้ [นโยบายการคืนเงินและการคืนสินค้า]

กรณีที่ไม่ได้ใช้ Stripe Checkout/Payment Links

หากประมวลผลการชำระเงินภายนอก Stripe Checkout/Payment Links เช่น ประมวลผลผ่าน Stripe Elements หรือ SDK สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ คุณจะต้องพัฒนาหน้าการยืนยันขั้นสุดท้ายของคุณขึ้นมาเอง เพื่อแสดงข้อมูลแต่ละรายการที่เกี่ยวข้อง