ทำความเข้าใจการฉ้อโกง

ประเภทการฉ้อโกงทางออนไลน์ที่พบบ่อย

เรียนรู้เกี่ยวกับการฉ้อโกงประเภทต่างๆ และความรับผิดของคุณ

การชำระเงินจะถือว่าเป็นการฉ้อโกงเมื่อเจ้าของบัตรไม่ได้เป็นผู้อนุมัติให้ทำรายการ การชำระเงินที่เป็นการฉ้อโกงส่วนใหญ่เกิดจากการนำบัตรหรือหมายเลขบัตรที่ถูกขโมยมาใช้ เมื่อเจ้าของบัตรได้รับแจ้งว่ามีการทำรายการชำระเงิน หรือเมื่อตรวจสอบใบแจ้งยอดบัตรของตัวเอง เจ้าของบัตรก็จะติดต่อบริษัทผู้ออกบัตรเพื่อโต้แย้งการชำระเงินดังกล่าว

การฉ้อโกงทางออนไลน์โดยเนื้อแท้แล้วแตกต่างไปจากการฉ้อโกงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจที่มีหน้าร้านจริง เนื่องจากการตรวจสอบให้แน่ใจว่าบุคคลที่คุณจำหน่ายสินค้าหรือบริการให้เป็นบุคคลเดียวกับที่ข้อมูลระบุหรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มิจฉาชีพบางรายจะเลือกใช้วิธีการที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ใช่แค่การพยายามนำบัตรที่ขโมยมาใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ ดังนั้นเมื่อรับชำระเงินทางออนไลน์ คุณควรตระหนักถึงการฉ้อโกงประเภทต่างๆ ตลอดจนความรับผิดของตัวเอง

การฉ้อโกงที่ต้องสงสัย

แพลตฟอร์มของคุณจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับ Stripe เพื่อให้บริการชำระเงินที่ปลอดภัย ระบบแมชชีนเลิร์นนิงของ Stripe จะเฝ้าสังเกตการชำระเงินทุกรายการที่ผู้ใช้ของเราประมวลผลอย่างต่อเนื่อง ในบางกรณีที่พบเห็นได้ยาก คุณอาจได้รับการแจ้งเตือนจาก Stripe ว่ารายการชำระเงินส่อพิรุธว่าน่าจะเป็นการฉ้อโกงหลังจากที่บริษัทผู้ออกบัตรได้อนุมัติเรียบร้อยแล้ว กรณีนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อ Stripe ตรวจพบกิจกรรมในบัตรที่เกิดขึ้นในภายหลังและกลายเป็นข้อบ่งชี้ว่าบัตรกำลังถูกไปเพื่อการฉ้อโกง

ถึงแม้ Stripe จะแจ้งเตือนให้คุณทราบทันทีที่ระบบรับรู้ถึงกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ไม่ชอบมาพากล แต่การแจ้งเตือนดังกล่าวอาจจะตามมาหลังทำรายการชำระเงินเสร็จแล้วหลายวันก็เป็นได้ ทั้งนี้ อย่าลืมว่าการคาดการณ์นี้ไม่ใช่เครื่องรับประกันว่าการชำระเงินเป็นการฉ้อโกง แต่แค่บอกว่ามีเหตุผลที่ชวนให้เชื่อว่าเป็นการฉ้อโกง

ระบบแจ้งข้อมูลนี้ให้คุณทราบก็เพื่อให้มั่นใจว่าคุณมีข้อมูลสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจและลงมือดำเนินการตามความจำเป็น (ตัวอย่างเช่น ติดต่อลูกค้าหรือระงับคำสั่งซื้อของลูกค้าเอาไว้ก่อน) หากตรวจสอบการชำระเงินแล้วเกิดมีข้อกังวลใจใดๆ ให้พิจารณาคืนเงินทันที ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโต้แย้งการชำระเงินและหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมจากการโต้แย้งเสียตั้งแต่เนิ่นๆ

ข้อควรระวัง แม้ลูกค้าจะโต้แย้งการชำระเงินที่ได้รับเงินคืนเต็มจำนวนแล้วไม่ได้ แต่ก็โต้แย้งการชำระเงินที่ได้รับเงินคืนเป็นบางส่วนแล้วได้ กฎของเครือข่ายบัตรอนุญาตให้ลูกค้าโต้แย้งการชำระเงินที่ได้รับเงินคืนแล้วบางส่วนเพื่อขอเงินที่ชำระเต็มจำนวนคืนได้ด้วยซ้ำไป

คำเตือนว่าอาจเป็นการฉ้อโกง: การแจ้งเตือนการฉ้อโกงที่ต้องสงสัยอีกประเภทที่คุณอาจได้รับก็คือคำเตือนว่าอาจเป็นการฉ้อโกงจากบริษัทผู้ออกบัตร ซึ่งหมายความว่ามีการรายงานกิจกรรมการฉ้อโกงกับบัตรที่ถูกใช้ชำระเงินให้กับคุณ

บัตรที่ถูกขโมย

การฉ้อโกงประเภทนี้คือการนำบัตรหรือรายละเอียดของบัตรเครดิตที่ถูกขโมยมาซื้อของทางออนไลน์ มิจฉาชีพอาจจะมีบัตรใบจริงอยู่ในครอบครอง แต่มีความเป็นไปได้มากกว่าที่ว่ารายละเอียดของเจ้าของบัตรจะถูกขโมยมาผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือธุรกิจจัดส่งสินค้าหรือให้บริการแก่มิจฉาชีพ โดยคิดว่าการชำระเงินดังกล่าวเป็นการทำรายการอย่างถูกต้อง

หากในขณะนั้นเจ้าของบัตรยังไม่ทราบว่าบัตรของตนเองสูญหายหรือว่าถูกขโมย (ดังนั้นจึงยังไม่ได้รับการแจ้งเตือนจากบริษัทผู้ออกบัตร) คุณก็จะยังประมวลผลการชำระเงินได้สำเร็จ แต่ถึงการชำระเงินจะไม่ถูกปฏิเสธ ก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้าของบัตรอนุมัติการชำระเงิน

หลังจากเจ้าของบัตรพบว่ามีการนำบัตรของตนไปใช้ในการฉ้อโกง เจ้าของบัตรก็จะโต้แย้งการชำระเงินดังกล่าวกับบริษัทผู้ออกบัตร ในกรณีที่เจ้าของบัตรชนะการโต้แย้งการชำระเงิน ความสูญเสียของธุรกิจก็จะมีมูลค่าเท่ากับจำนวนเงินที่ชำระ ตลอดจนต้นทุนของสินค้าหรือบริการใดๆ ที่ส่งมอบไปแล้ว นอกจากนี้ ธุรกิจยังต้องชำระค่าธรรมเนียมการโต้แย้งการชำระเงิน โดยไม่สำคัญว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะการโต้แย้งด้วย

การฉ้อโกงแบบชำระเงินเกิน

การฉ้อโกงแบบชำระเงินเกิน (หรือที่เรียกว่าการหลอกให้เบิกจ่ายเงิน) เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการฉ้อโกงโดยใช้บัตรที่ถูกขโมย มิจฉาชีพจะทำทีเป็นว่าตนเองต้องใช้บริการของผู้ให้บริการจากภายนอกเพื่อทำการซื้อสินค้าหรือบริการ จากนั้นมิจฉาชีพก็จะเสนอว่ายินดีชำระค่าสินค้าให้กับผู้ขาย พร้อมบวกจำนวนเงินเพิ่มเติมสำหรับผู้ให้บริการจากภายนอกที่แอบอ้างขึ้นมา แล้วก็มักจะเสนอค่าซื้อความสะดวก (ทิป) ให้คุณยอมทำตามคำขอดังกล่าว การฉ้อโกงที่เกิดขึ้นในกรณีนี้คือผู้ให้บริการจากภายนอกที่อ้างไม่มีตัวตนอยู่จริงแต่อย่างใด ตัวมิจฉาชีพจะได้เงินส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าสินค้า ส่วนผู้ขายก็ต้องถูกโต้แย้งการชำระเงินต่อไป

ตัวอย่างเช่น ธุรกิจค้าขายของเก่าทางออนไลน์รายหนึ่งอาจถูกมิจฉาชีพที่แอบอ้างว่าอาศัยอยู่ในต่างประเทศเข้ามาติดต่อทาบทาม มิจฉาชีพจะขอให้ธุรกิจใช้บริการบริษัทขนส่งสินค้าที่ตนเองต้องการ และขอให้ธุรกิจชำระค่าบริการให้กับบริษัทที่ว่านี้ มิจฉาชีพจะใช้ข้อมูลบัตรที่ขโมยมาเพื่อชำระค่าสินค้าให้กับธุรกิจ ค่าระวางขนส่งที่ไม่มีอยู่จริง รวมไปถึงชำระค่าตอบแทนพิเศษเพื่อจูงใจผู้ขาย

ทางฝ่ายธุรกิจก็ยินยอมทำตามและชำระค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทขนส่งสินค้าที่ไม่มีอยู่จริงนี้ แต่สุดท้ายก็จะไม่มีการจัดส่งสินค้าใดๆ เกิดขึ้น เพราะผู้ขนส่งดังกล่าวไม่มีตัวตนแต่อย่างใด จากนั้นเจ้าของบัตรตัวจริงก็จะค้นพบว่ามีการทำรายการชำระเงินที่ตนไม่ได้อนุมัติ และโต้แย้งการชำระเงินกับบริษัทผู้ออกบัตร ระบบจะคืนเงินสำหรับการชำระเงินดังกล่าวโดยอัตโนมัติและหักค่าธรรมเนียมการโต้แย้งการชำระเงิน แม้ว่าธุรกิจจะเบิกจ่ายเงินให้ผู้ให้บริการจากภายนอกที่แอบอ้างขึ้นมาแยกต่างหากไปแล้ว

การทดสอบบัตร

หมายถึงการนำบัตรหนึ่งใบ (หรือหลายใบ) ไปทดสอบกับเว็บไซต์แห่งหนึ่งเพื่อดูว่าใช้งานได้หรือไม่ แล้วค่อยนำไปใช้กับอีกเว็บไซต์หนึ่งเพื่อทำรายการชำระเงินที่เป็นการฉ้อโกง ส่วนมากแล้วเว็บไซต์ที่มีช่องให้ป้อนข้อมูลได้เอง อย่างเช่นเว็บไซต์บริจาคและธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบ "จ่ายตามต้องการ" มักจะตกเป็นเป้าหมายของการทดสอบบัตร ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ปกป้องตัวคุณเองจากการทดสอบบัตร

การคืนเงินผ่านวิธีการอื่น

สำหรับการฉ้อโกงรูปแบบนี้ ตัวมิจฉาชีพจะจงใจชำระเงินเป็นจำนวนสูงกว่าที่กำหนด แล้วจึงอ้างว่าตนเองกรอกจำนวนเงินผิดไปโดยไม่ได้ตั้งใจ มิจฉาชีพจะขอให้ทำรายการคืนเงินเป็นบางส่วนเพื่อแก้ไขยอดที่ผิด แต่จะอ้างว่าได้ปิดบัตรที่ใช้ชำระเงินไปแล้ว ดังนั้นจึงต้องการให้ส่งเงินคืนผ่านวิธีการอื่นที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายบัตร (ตัวอย่างเช่น ผ่านเช็คหรือการโอนเงินระหว่างธนาคาร)

ตัวอย่างเช่น มิจฉาชีพรายหนึ่งบริจาคเงิน 500 ดอลลาร์สหรัฐให้กับองค์กรการกุศล หลังจากนั้นไม่นานก็ติดต่อองค์กรดังกล่าวเพื่อแจ้งว่าจริงๆ แล้วตั้งใจจะบริจาคเป็นจำนวน 50 ดอลลาร์สหรัฐ มิจฉาชีพขอให้องค์กรคืนเงินจำนวน 450 ดอลลาร์สหรัฐโดยใช้วิธีการอื่น ดังนั้นจึงไม่มีการคืนเงินกลับไปยังบัตรใบเดิมที่ใช้ชำระตั้งแต่แรก เมื่อเจ้าของบัตรตัวจริงโต้แย้งการชำระเงินที่เป็นการฉ้อโกงนี้ ตัวองค์กรการกุศลไม่เพียงแต่จะต้องรับผิดชอบคืนเงินจำนวนที่ถูกโต้แย้งเท่านั้น แต่ยังสูญเสียเงินจำนวนที่ส่งคืนผ่านวิธีการอื่นไปด้วย

อย่าคืนเงินสำหรับการชำระเงินโดยใช้วิธีการอื่นซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ใช้ชำระตั้งแต่แรกโดยเด็ดขาด ถึงแม้ว่าจะมีการปิดบัตรไปแล้วจริงๆ คุณก็ยังทำรายการคืนเงินได้อยู่ดี โดยลูกค้าควรจะติดต่อบริษัทผู้ออกบัตรเพื่อจัดแจงให้มีการดึงเงินจำนวนดังกล่าวกลับคืนมา

การฉ้อโกงโดยปฏิเสธการชำระเงิน

การฉ้อโกงโดยปฏิเสธการชำระเงิน (หรือที่เรียกว่า "การใช้ในทางที่ผิดโดยผู้เป็นเจ้าของ" หรือ "การฉ้อโกงโดยผู้เป็นเจ้าของ") เกิดขึ้นเมื่อเจ้าของบัตรตัวจริงซื้อสินค้าหรือบริการ แต่โต้แย้งการชำระเงินในภายหลัง ซึ่งอาจจะเป็นการโต้แย้งโดยไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากเจ้าของบัตรเห็นรายการธุรกรรมในใบแจ้งยอดแล้วไม่ทราบที่มาที่ไป หรืออาจจะโดยจงใจก็ได้ (ตัวอย่างเช่น เนื่องจากผู้ซื้อมานึกเสียดายทีหลัง หรือพยายามจะฉ้อโกงเพื่อซื้อสินค้าโดยไม่ต้องชำระเงิน)

การหาคำตอบว่าเกิดการฉ้อโกงโดยปฏิเสธการชำระเงินขึ้นหรือไม่อาจเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะสำหรับการขายผ่านทางดิจิทัล ในส่วนของธุรกิจซึ่งขายสินค้าที่จับต้องได้ การจัดส่งไปยังที่อยู่ในการเรียกเก็บเงินที่ยืนยันแล้ว รวมทั้งกำหนดให้ต้องเซ็นกำกับการรับมอบสินค้าก็อาจช่วยยับยั้งการฉ้อโกงประเภทนี้ได้ ไม่เพียงเท่านั้น การแสดงนโยบายการคืนสินค้าที่ชัดเจนเอาไว้อย่างโดดเด่นในหน้าการชำระเงินโดยที่ลูกค้าจะต้องยินยอมตามนโยบายดังกล่าวก่อนซื้อสินค้านั้นก็ช่วยได้เช่นกัน